จำนวนผู้เข้าชม: 197
ยังไม่ยืนยันว่ามีพืชกินคนจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆคือมีพืชกินแมลงพืชที่จับแมลงกินเป็นอาหารมีหลายชนิดซึ่งมีวิธีการจับแมลงแตกต่างกันไป
พืชกินแมลง หรือพืชกินสัตว์ (Carnivorous plant) หมายถึง พืชที่ได้สารอาหารบางส่วนหรือส่วนใหญ่ จากการดักและบริโภคสัตว์หรือสัตว์เซลล์เดียว ซึ่งปกติได้แก่ แมลง และสัตว์ขาปล้องเหล่าอื่นๆ โดยเป็นผลจากการปรับตัวให้อยู่รอดในดินที่มีสารอาหารน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไนโตรเจน เช่น ดินที่มีสภาพเป็นกรด หิน ฯลฯ
วิธีจับแมลงแบ่งเป็น 3 วิธีคือ
1. ใช้ประโยชน์จากส่วนปลายของใบซึ่งเปลี่ยนเป็นถุงคล้ายถุงคนโทหิ้วเมื่อใบแก่ถึงคนโทจะพองอ่าเต็มที่ มีฝาปิดบริเวณกรวยคนโท เคลือบด้วยยางเหนียวหรือน้ำหวานล่อแมลงภายในลื่นและเรียบ เมื่อแมลงหรือมด ตกลงไปในปากถุงจะปิดพืชจะปล่อยน้ำย่อยออกมาจากรูเล็กๆในถุงมาย่อยแมลงเหล่านั้นพืชชนิดนี้ได้แก่หม้อข้าวหม้อแกงลิงหรือน้ำเต้าฤาษี
2. มีขนใสๆอยู่ในใบที่งอเป็นรูปช้อนปลายขนมีตุ่มใสๆเป็นเมือกเหนียวเพื่อให้แมลงมาติดขนเหล่านั้นจะโน้มลงมาย่อยแมลงจนหมดแล้วเหยียดตรงอีก เช่น หยาดน้ำค้าง
3. มีหนามที่ขอบใบเส้นกลางใบทำหน้าที่เหมือนบานพับโดยมีตุ่มกลางใบเป็นตัวกระตุ้นให้พับได้ เมื่อแมลงมาเกาะใบจะพับเข้ามาหากันแมลงจะถูกหนามที่ขอบใบกั้นเป็นตาข่ายเอาไว้จากนั้นพืชก็จะปล่อยน้ำย่อยในใบออกมาย่อยแมลง
อย่างไรก็ตามพฤติกรรมข้างต้นใช่จะเป็นเพราะมีนิสัยดุร้ายก็หาไม่เพราะการที่พืชกินแมลงบางชนิดก็เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของใบลำต้นและรากเท่านั้นเอง
กาบหอยแครง (Venus Flytraps) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dionaea Muscipula จัดอยู่ในวงศ์ Droseraceae เป็นต้นไม้ที่มีลำต้นเป็นกาบอยู่เหนือดิน ปลายกาบมีซี่แบบฟันปลาประมาณ 15-20 ซี่ แต่ละซี่ผลิตน้ำหวานไว้ดักจับแมลง สีสันหลากหลาย มีขนด้านใน และตัวกาบจะตายเมื่อจับเหยื่อได้ 7-10 ครั้ง ส่วนใบมีลักษณะคล้ายหัวใจ ดอกออกสีขาว แดง และแสด ก้านดอกยาว ส่วนมากบานเพียงดอกเดียว ผลเป็นฝัก มีเมล็ดข้างใน โตได้ดีในดินที่ผสมขุยมะพร้าวสับ ควรปลูกให้รากจมน้ำครึ่งหนึ่ง ชอบอากาศอบอุ่น ต้องการแสงแดดปานกลาง ไม่ต้องการน้ำมาก ไม่ต้องให้ปุ๋ยเคมีเพราะจะทำให้รากไหม้ และหมั่นเปลี่ยนวัสดุปลูกทุก ๆ 1-2 ปี
หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Monkey Cups) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nepenthes Mirabilis จัดอยู่ในวงศ์ Nepenthaceae ลักษณะเป็นไม้เลื้อย ใบเลี้ยงคู่ มีหม้อเป็นกระเปาะห้อยอยู่ปลายใบ มีต่อมน้ำหวานล่อเหยื่อที่ปากและฝา ในกระเปาะมีขี้ผึ้งและต่อมเล็ก ๆ ผลิตน้ำย่อยที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ไว้ย่อยซากเหยื่อก่อนดูดซึมสารอาหาร ดอกออกเป็นช่อแยกแขนง แต่ละต้นแยกเพศกัน ส่วนใหญ่จะออกเมื่อโตเต็มวัย ผลเป็นทรงรี มีเมล็ดคล้ายเส้นด้ายจำนวนมาก นิยมขยายพันธุ์ด้วยการปักชำและเพาะเมล็ด ปลูกด้วยกาบมะพร้าวสับและสแฟกนัมมอส ทั้งนี้ควรเปลี่ยนกระถางเมื่อต้นมีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถปลูกกลางแจ้งได้ เพราะเป็นต้นไม้ชอบแสงแดดตลอดวันและชอบความชื้นแฉะ ควรรดน้ำลงบนดินวันละ 1-2 ครั้ง
หยาดน้ำค้าง จอกบ่วาย หรือกระดุมทอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Drosera burmannii Vahl. จัดอยู่ในวงศ์ Droseraceae ลักษณะเป็นไม้ล้มลุกกินแมลงขนาดเล็ก อายุ 1 ปี ลำต้นสั้นติดกับดิน สูงประมาณ 2-3 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว รูปมนรี มีขนสีแดงปกคลุม ปลายขนมีน้ำหวานเหนียวเพื่อดักจับแมลง ก้านใบสั้น ส่วนดอกออกเป็นช่อกลางลำต้น มีสีม่วง สีชมพู หรือสีขาว มีขนรอบกลีบรองดอก ผลเป็นทรงแคปซูล ขนาดเล็ก มีเมล็ดสีดำข้างใน ชอบดินและอากาศที่ชื้นแฉะ มักพบตามพื้นที่โล่ง ภูเขาหินทราย ทุ่งหญ้า และใกล้ลำธาร