บทความที่น่าสนใจ

 

จิตใจสามารถควบคุมร่างกายได้จริงหรือ?

จำนวนผู้เข้าชม: 199

          คนเราเกิดมาย่อมมีความรู้สึกต่างๆ เช่น ดีใจ เสียใจ ผิดหวัง เบื่อหน่าย ตกใจกลัว หรือ ตื่นเต้น แต่เชื่อหรือไม่ว่าความรู้สึกเหล่านี้มีอำนาจสามารถควบคุมอวัยวะต่างๆภายในร่างกายได้ อารมณ์ที่ไม่ดี ความทุกข์ ความเครียด ความเศร้า จะทำให้ร่างกายอ่อนแอลง โรคภัยจะถามหา ส่วนความรู้สึกที่ดี ที่เป็นสุข สบายใจ ดีใจ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง
        ความเชื่อนี้มีมานานแล้ว แต่แค่เพิ่งจะมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้เองเพื่อพิสูจน์ว่า "จิตใจสามารถควบคุมร่างกายได้จริง"

      

          นักสรีรวิทยาชาวอเมริกันได้ใช้หนูเป็นสัตว์ทดลองและสรุปผลว่า ความรู้สึกที่ไม่ดีต่างๆจะทำให้สมองกระตุ้นต่อมใต้สมองให้ปล่อยฮอร์โมนชนิดหนึ่งซึ่งจะเดินทางไปตามเส้นเลือดจนถึงไตทำให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนชนิดต่างๆออกมาฮอร์โมนเหล่านี้มีผลกระทบต่ออวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นทำให้ฮอร์โมนเพศเสียสมดุล เกิดความยุ่งยากในระบบสืบพันธุ์ของสตรี ฮอร์โมนจากไตจะทำให้หลอดเลือดตีบและฮอร์โมนคอร์ติซอลในปริมาณมากอาจทำอันตรายต่ออวัยวะที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรค นอกจากนี้ยังทำให้ม้ามและต่อมไขมันหดตัว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจึงอ่อนแอลง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไขมันในเส้นเลือดอุดตัน อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งเกี่ยวกับอารมณ์ที่ไม่ดีต่างๆ ส่วนผู้ที่สามารถควบคุมจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอจะทำให้ร่างกายต้านโรคได้ดีขึ้น

อารมณ์มีผลต่อโครงสร้างร่างกายด้วยหรือ


คุณเคยสังเกตไหมว่า คนที่อารมณ์ดี คิดดี ทำดี จิตใจดี จะเป็นคนที่มีความสุข ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ใบหน้าแววตาสดใส ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายอย่างน่าอัศจรรย์ หรือที่เรียกว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” เมื่อมีจิตใจดี สุขภาพร่างกายก็จะดีตามมาเอง ไม่เพียงแค่อารมณ์ที่มีผลต่อสุขภาพ ยังมีผลต่อโครงสร้างร่างกายอีกด้วย หลายคนคงสงสัยว่าอารมณ์สัมพันธ์กับโครงสร้างร่างกายได้อย่างไร คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ ตำแหน่ง Clinical Director จากสถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ มาไขข้อสงสัยนี้โดยกล่าวว่า “อารมณ์เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมา เช่น คนที่มีความสุขก็จะมีหน้าตาสดใส พฤติกรรมการยืน เดิน นั่ง อย่างสง่าผ่าเผย ต่างจากคนที่มีอารมณ์หดหู่ ก็จะนั่งไหล่ตก ตัวงอ ส่งผลให้โครงสร้างร่างกายมีการผิดรูปไปจากเดิม” แล้วคุณเคยสังเกตอารมณ์ของตนเองเหล่านี้หรือไม่ว่า กำหนดให้คุณมีพฤติกรรมการแสดงออกทางร่างกายอย่างไร เพราะพฤติกรรมที่แสดงออกมาล้วนมีผลต่อโครงสร้างร่างกายทั้งสิ้น อาทิ

 

อารมณ์โกรธ ตกใจ และหวาดกลัว จะมีพฤติกรรมหายใจถี่ หัวใจเต้นแรง และเร็ว ทั้งนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย ที่เรียกว่า “Cortisol”   กล้ามเนื้อต่างๆ เกร็งตัวมากกว่าปกติ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่บริเวณท้ายทอย ซึ่งมีผลต่อการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองน้อยลง คนกลุ่มนี้มักมีอาการปวดเมื่อยหัว หนักหัว


อารมณ์เสียใจ ร้องไห้ ซึมเศร้า มีผลต่อกล้ามเนื้อในการหายใจ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครงที่ทำหน้าที่ยกซี่โครงขึ้นเวลาเราหายใจเข้า (Internal-external intercostal muscle) ทำให้ปอดขยายได้เต็มที่ แต่คนในกลุ่มอารมณ์นี้ กล้ามเนื้อเหล่านี้จะเกร็งตัวมากทำให้หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก การไหลเวียนของออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายถูกจำกัด และที่สำคัญกลุ่มคนเหล่านี้จะอยู่ท่าทางคอตก อกพับ ซึ่งไหล่จะงุ้มไปด้านหน้า และหลังค่อมมากกว่าปกติ นานเข้าทำให้การหายใจและการทำงานของปอดลดลง อาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้


 เครียด เป็นอารมณ์ที่คนทั่วไปมักปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้เป็น แต่อันที่จริงแล้วในจิตใต้สำนึกเป็นอยู่ คนกลุ่มนี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในระยะยาว ผลทำให้ไม่สามารถทนต่อสิ่งเร้าต่างๆ ที่มากระทบได้ สะสมทำให้เป็นคนหงุดหงิดง่าย โมโหง่าย และส่งผลต่อโครงสร้างร่างกายโดยตรง คือ กล้ามเนื้อทั้งตัวจะตึงรั้ง หดเกร็งมากกว่าปกติ บาดเจ็บได้ง่าย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดเล็กที่บริเวณต้นคอ ส่งเสริมทำให้มีอาการปวดคอ มึนศีรษะ ปวดมากกว่าคนทั่วไป  (Cervical Spondylosis) ได้ง่าย

อารมณ์ดี คนกลุ่มนี้จะมีท่วงท่าที่สง่าผ่าเผย หลังตั้งตรง อกผายไหล่ผึ่ง การสูบฉีดของเลือดไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้ดี ฮอร์โมนในร่างกายเป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมให้มีภูมิต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ดีด้วย แนวกระดูกก็จะเรียงตัวในความโค้งที่เหมาะสม อวัยวะต่างๆ อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ส่งเสริมให้ร่างกายทำงานได้ดี

อารมณ์ที่คุ้นชินอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุปนิสัยเปลี่ยน และทำให้การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย และเปลี่ยนแปลงเซลล์ในร่างกาย และในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อระบบโครงสร้างของร่างกาย นั่นคือระบบกระดูกกล้ามเนื้อ ระบบการไหลเวียนเลือด น้ำเหลือง และระบบประสาท เราจึงควรต้องดูแลรักษาตัวเองจากภายใน    

   วันนี้ คุณยิ้มหรือยัง?

 

รู้อย่างนี้แล้วเราควรควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติ ไม่ดีใจหรือเสียใจมากจนเกินไป มีสติทุกย่างก้าว เพื่อสร้างความสมดุลให้กับโครงสร้างร่างกายด้วยตัวเอง

 

^