บทความที่น่าสนใจ

 

กระเจี๊ยบแดงมีประโยชน์อย่างไร?

จำนวนผู้เข้าชม: 229

 กระเจี๊ยบเปรี้ยว หรือ กระเจี๊ยบแดง (ภาคเหนือเรียก เกงเขง หรือ เกงเคง, ไทใหญ่แม่ฮ่องสอนเรียก ส้มปู, จังหวัดตากเรียก ส้มตะแลงเครง) เป็นพืชสมุนไพรที่เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 3–6 ศอก ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง ใบมีหลายแบบด้วยกัน ขอบใบเรียบ บางทีก็มีรอยหยักเว้า 3 หยัก สีของดอกเป็นสีชมพู ตรงกลางดอกมีสีเข้มมากกว่าขอบนอกของกลีบ กลีบดอกร่วงโรยไป กลีบรองดอกและกลีบเลี้ยงก็จะเจริญเติบโตขึ้นอีกเกิดเป็นสีม่วงแดงเข้มหุ้มเมล็ดเอาไว้ภายใน

การขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดปลูก ควรปลูกในหน้าฝน พรวนดินก่อนปลูก ขุดหลุมปลูกหลุมละ 2-3 เมล็ด ระยะห่างของหลุมประมาณ ½-1 เมตร พอต้นอ่อนงอกออกมาแล้ว ให้ถอนต้นที่อ่อนแอกว่าออกไปเอาต้นที่แข็งแรงไว้ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน กำจัดวัชพืชออกให้หมด 

ลักษณะ : ไม้ล้มลุก สูง 1-2 ม. ผิวค่อนข้างเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบของต้นที่ยังเล็กและใบที่อยู่ใกล้ดอกบางใบมีแผ่นใบคล้ายรูปไข่และมีขนาดเล็กกว่าใบโดยทั่วไปซึ่งมีแผ่นใบคล้ายรูปไข่กลับและมีขอบใบหยักเว้าลึก 3-5 หยัก ปลายหยักแหลม โคนมน เส้นใบออกจากโคนใบ 3-5 เส้น ดอกใหญ่ สีเหลืองอ่อน กลางดอกสีแดง ออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ริ้วประดับเรียวแคบ สีแดง มี 8-12 เส้น อยู่เป็นวงรอบกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงโคนติดกันคล้ายถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมแหลม 5 แฉก แต่ละแฉกมีเส้นกลีบ 3 เส้น กลีบดอกใหญ่ สีเหลือง มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ โคนกลีบสีแดงเข้ม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดยาว 1-3 ซม. หุ้มเกสรเพศเมีย อับเรณูสีนวลขนาดเล็กจำนวนมากอยู่รอบหลอด ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยอดเกสรเพศเมียสีม่วงแดง เป็นตุ่มเล็กและมีขน ผลสีแดง รูปไข่ป้อม ไม่เป็นฝักยาวอย่างกระเจี๊ยบ มีกลีบเลี้ยงที่ขยายใหญ่รองรับอยู่จนผลแก่ เมล็ดสีน้ำตาล รูปไต ขนาด 4-6 มม.

 

การใช้ประโยชน์
กระเจี๊ยบเปรี้ยวสามารถนำไปทำเป็นเครื่องดื่มแก้กระหายได้ นอกจากนี้น้ำกระเจี๊ยบเปรี้ยวสามารถใช้ทดสอบสารอาหารที่มีโปรตีนได้ โดยอัตราส่วน 1:2 ซึ่งสีแดงของน้ำกระเจี๊ยบเปรี้ยวจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีอื่น

ใบอ่อนและยอดมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ใช้ต้มหรือแกง กลีบเลี้ยงสีแดงและรสเปรี้ยว มีคุณค่าทางอาหาร ใช้ทำเครื่องดื่ม เช่น ชา น้ำผลไม้ ไวน์ ตลอดจนทั้งทำอาหารหวานบางจำพวก เช่น แยม เมล็ดมีน้ำมันมาก เส้นใยจากต้นใช้ทำเชือกและกระสอบ ในไต้หวันใช้เมล็ดเป็นยาแผนโบราณเพื่อเป็นยาระบาย ยาขับปัสสาวะ และยาบำรุง

ชาวแอฟริกาตะวันออกนำทั้งใบและผลไปต้มดื่มแก้อาการไอ ชาวอียิปต์ใช้กลีบเลี้ยงสีแดงต้มน้ำดื่มแก้ความดันโลหิตสูง ชาวมอญและพม่านิยมนำผลและใบกระเจี๊ยบเปรี้ยวไปปรุงอาหารได้หลายอย่าง ใบนำไปยำ หั่นใส่ข้าวยำหรือกินแนมกับอาหารรสจัด ต้ม แกงส้ม ผัด และจิ้มน้ำพริก 

   

  1. กระเจี๊ยบมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) และสารโพลีฟีนอล ซึ่งได้แก่ Protocatechuic Acid ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยชะลอความแก่ และช่วยให้เส้นเลือดอ่อนนิ่มได้
  2. กระเจี๊ยบใช้ทำเป็นน้ำดื่มที่ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น เนื่องจากมีกรดซิตริกอยู่ด้วย
  3. ใบอ่อนของกระเจี๊ยบใช้รับประทานเป็นผักได้ หรือจะนำมาใช้ทำแกงส้มก็ได้ ให้รสเปรี้ยวกำลังดี และยังมีวิตามินเอสูง (12,583 I.U. ต่อ 100 กรัม) ที่ช่วยบำรุงสายตาอีกด้วย
  4. กลีบเลี้ยงผลและกลีบดอกอุดมไปด้วยแคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
  5. กระเจี๊ยบแดงจัดเป็นพืชส่งออกโดยนำไปใช้เป็นส่วนผสมสำคัญสำหรับ Herbal tea และใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ใช้บริโภคภายในประเทศ ใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย เช่น ผลิตภัณฑ์ชาชง กระเจี๊ยบแดงอบแห้ง กระเจี๊ยบแดงแคปซูล เครื่องดื่มต่าง ๆ ใช้ในอุตสาหกรรมสีผสมอาหาร หรือใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ แยม เยลลี่ เบเกอรี ไอศกรีม ไวน์ น้ำหวาน ซอส เป็นต้น รวมไปถึงในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น โลชัน ครีมกระเจี๊ยบแดง เจลอาบน้ำ ครีมขัดผิว เป็นต้น
  6. น้ำต้มของดอกแห้งจะมีกรดผลไม้หรือ AHA อยู่หลายชนิดในปริมาณสูง จึงมีการนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางประเภทครีมหน้าใส
  7. เมนูดอกกระเจี๊ยบแดง เช่น แกงส้มดอกกระเจี๊ยบ ยำดอกกระเจี๊ยบ แยมดอกกระเจี๊ยบ ดอกกระเจี๊ยบแช่อิ่ม กระเจี๊ยบกวน ชากระเจี๊ยบแดง น้ำกระเจี๊ยบแดง เป็นต้น
  8. ในแอฟริกาใต้มีการใช้น้ำมันจากเมล็ดเป็นยารักษาแผลให้อูฐ
  9. นอกจากนี้ลำต้นของกระเจี๊ยบแดงยังสามารถนำมาทำเป็นเชือกปอได้อีกด้วย

 

 

 

^