บทความที่น่าสนใจ

 

เหตุใดสัตว์จึงต้องเปลี่ยนรูปร่างเมื่อเจริญเติบโต?

จำนวนผู้เข้าชม: 119

              เราจะสังเกตเห็นสัตว์บางประเภทนั้นขณะที่มีการเจริญเติบโตจะมีการเปลี่ยนรูปร่างไปด้วย เช่น พวกกุ้ง ปู แมลง โดยเฉพาะพวกแมลงเราพอจะมองเห็นได้ง่าย การเปลี่ยนรูปร่างของแมลงแต่ละชนิดนั้นยังแตกต่างกันออกไปอีก เช่น พวกผีเสื้อจะมีการเปลี่ยนจาก ไข่ไปเป็นตัวหนอน จากนั้นก็กลายเป็นดักแด้ แล้วจึงเปลี่ยนเป็นตัวเต็มวัย ยุง จะเปลี่ยนจากไข่จะเปลี่ยนเป็นลูกน้ำตัวยาว แล้วเป็นตัวโม่ง หัวเริ่มใหญ่ ลำตัวงอและในที่สุดโตเต็มวัยกลายเป็นยุงอย่างที่เห็นกันอยู่ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่กล่าวนี้เรียกว่า เป็นการเปลี่ยนรูปร่างชนิดสมบูรณ์แบบ ในสัตว์บางชนิด เช่น แมลงปอ จากไข่ฟักออกเป็นตัวอ่อนหากินอยู่ในบ่อน้ำแถบก้นบ่อ จากนั้นก็เลื้อยขึ้นไปมาเกาะตามใบไม้กิ่งไม้เหนือน้ำและลอกคราบ โดยเปลือกจะแตกออกทางด้านหลัง จะสังเกตเห็นตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีรูปร่างไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก การเปลี่ยนรูปร่างของแมลงนั้นก็เพื่อให้เหมาะกับวิถีทางดำรงชีวิตของมัน เช่น เรื่องการหาอาหาร การเคลื่อนไหว และการสืบพันธุ์ต่อไป

 วัฏจักรชีวิตของสัตว์ แบ่งรูปแบบการเจริญเติบโตของสัตว์ได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ การเจริญเติบโตแบบที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง การเจริญเติบโตที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อย การเจริญเติบโตแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไม่สมบูรณ์ และการเจริญเติบโตแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างสมบูรณ์
1. การเจริญเติบโตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะ

สัตว์ประเภทนี้ มีการเจริญเติบโตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะเป็นขั้น ๆ ในระหว่างเจริญเติบโต ตัวอ่อนมีลักษณะรูปร่างเหมือนตัวเต็มวัยทุกประการ เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า ได้แก่ แมลงบางชนิด สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

 

2. การเจริญเติบโตแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อย

สัตว์ประเภทนี้ มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อยไม่ครบขั้น มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเพียง 3 ขั้น คือ ไข่ ฟักเป็นตัวอ่อน แต่ยังมีอวัยวะบางอย่างไม่ครบ เช่น ไม่มีปีก เมื่อมีการลอกคราบตัวอ่อน จึงมีปีก และเจริญเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ จนมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัย และอาศัยอยู่บนบก ได้แก่ แมลงสาบ ตั๊กแตน จิ้งหรีด จักจั่น มวนต่าง ๆ เหา ปลวก ไร เรือด เพลี้ย

 

3. การเจริญเติบโตแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไม่สมบูรณ์

สัตว์ประเภทนี้ มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไม่ครบขั้น มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเพียง 3 ขั้น คือ ไข่ ตัวอ่อนในน้ำ ตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยของสัตว์ประเภทนี้วางไข่ในน้ำ แล้วไข่ฟักเป็นตัวอ่อน ซึ่งตัวอ่อนหายใจโดยใช้เหงือก ต่อมาตัวอ่อนลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัย แล้วขึ้นจากน้ำมาอาศัยอยู่บนบก ซึ่งตัวเต็มวัยหายใจโดยใช้ระบบท่อลม ไม่มีระยะดักแด้ ได้แก่ แมลงปอ ชีปะขาว จิงโจ้น้ำ

 

4. การเจริญเติบโตแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างสมบูรณ์

สัตว์ประเภทนี้ จะมีการเจริญเติบโตที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างครบ 4 ขั้นตอน คือ ไข่ จะฟักเป็นตัวอ่อน ต่อมาตัวอ่อนจะสร้างสารขึ้นมาห่อหุ้มร่างกายกลายเป็นดักแด้ และเกิดการลอกคราบเพื่อกำจัดเปลือกที่มีลักษณะอ่อนนุ่มซึ่งห่อหุ้มร่างกายออกไป แล้วสร้างเปลือกที่มีความแข็งขึ้นมาแทนกลายเป็นตัวเต็มวัย เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างสมบูรณ์ ได้แก่ ยุง ผีเสื้อ ผึ้ง มด ต่อ แตน ไหม แมลงวัน ด้วง เป็นต้น

  

^